5/07/2551

อ๊บอ๊บผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์

นิทานเรื่อง อ๊บอ๊บผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์
ผลงานของ ด.ญ.ปณาลี ทองสาธิต น.ร.ชั้นประถม ๕ (ปีการศึกษา ๒๕๕๑)
นิทานเรื่องนี้ ริบบิ้น แต่งเล่นในช่วงเวลาว่าง
ท่านผู้อ่านสามารถให้คำแนะนำกับริบบิ้นได้ที่ ribbonbeep@yahoo.co.th

ตอนที่หนึ่ง:
ณ บ่อน้ำแห่งหนึ่งมีกบน้อยชื่อ “อ๊บอ๊บ” อาศัยอยู่กับเพื่อนสาวชื่อ “อ๊บบี้” และในบ่อน้ำนี้มีปลาชื่อ “ฟิชชี่” ปลาตัวนี้เป็นปลาที่ฉลาดที่สุดในบ่อน้ำนี้เลย
อ๊บอ๊บกับอ๊บบี้ก็ชื่นชอบและเป็นลูกค้าประจำของท่านฟิชชี่เพราะทั้งคู่พึ่งย้ายเขามาอยู่ในบ่อน้ำนี้ ก็เลยต้องปรึกษาเรื่องราวต่างๆในบ่อน้ำ
........เวลาผ่านไป อ๊บอ๊บกำลังนั่งดูรายการทีวีอยู่ รายการนี้เป็นรายการที่มีคนออกไปผจญภัยแล้วมาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟังผ่านทางรายการทีวี เมื่อดูเสร็จอ๊บอ๊บก็อยากออกไปผจญภัยบ้างก็เลยไปถามอ๊บบี้ว่า
“ฉันอยากไปผจญภัยบนโลกมนุษย์เธอไปด้วยกันไหม” อ๊บบี้นึกอะไรดีๆออกจึงพูดขึ้นว่า “งั้นเราไปปรึกษาท่านฟิชชี่กันดีกว่า”
ทั้งคู่จึงเดินทางไปหาท่านฟิชชี่ ท่านฟิชชี่กำลังอ่านหนังสื่ออยู่ “ท่านฟิชชี่คะขอรบกวนหน่อยคะ” อ๊บบี้พูดขึ้น “ได้สิข้ากำลังว่างๆอยู่เลย” ท่านฟิชชี่ตอบ อ๊บอ๊บกระโดดอย่างดีใจแล้วพูดขึ้นว่า “คือพวกเราอยากขึ้นไปผจญภัยบนโลกมนุษย์นะฮะ”
“ได้สิเดี๋ยวข้าจะทำให้เจ้าได้ไปผจญภัยอย่างสนุกสนานและมีความสุขเอง”ว่าแล้วท่าฟิชชี่ก็มอบฟองน้ำวิเศษที่ไม่มีวันแตกและสามารถทำให้กลายร่างเป็นมนุษย์ได้ แต่ท่านฟิชชี่เอยขึ้นว่า “ฟองน้ำนี้มีพลังอยู่ได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นแล้วพลังจะหมดลงและก่อนพลังจะหมดหนึ่งวันให้พวกเจ้ารีบแปลงกลายกลับมาเป็นกบไม่อย่างนั้นพวกเจ้าจะกลายเป็นมนุษย์ตลอดกาล”
มื่อท่านฟิชชี่พูดจบ “กลายเป็นคนก็ดีสิ”อ๊บอ๊บพูดอย่างดีใจ “ไม่....เพราะถ้าเราเป็นคนเราก็ไม่ได้เจอท่านน้ากับท่านอาอีกเลย” อ๊บบี้เถียงอย่างไม่พอใจ “จริงสิ........ฉันขอโทษที” “เอาละไปได้แล้วทั้งคู่ ขอให้ผจญภัยอย่างสนุกสนานนะ” จากนั้นทั้งคู่ก็แปลงกลายเป็นมนุษย์

ตอนที่สอง:
ทั้งคู่ออกเดินทางไปเรื่อยๆ จนเหนื่อย ท้องฟ้าก็เริ่มมืดทั้งคู่ก็เลยนอนพักใต้ต้นไม้ พลังของฟองน้ำทำให้ทั้งคู่ไปตกอยู่ที่เมืองแห่งหนึ่งโดยที่ทั้งคู่ไม่รู้ตัว เช้าวันรุ่งขึ้นทั้งคู่ตื่นขึ้นมาตกใจว่าตัวเองอยู่ที่ไหน อ๊บอ๊บจึงเดินไปดูแล้วพูดอย่างตื่นเต้นว่า “นี่นี่อ๊บบี้เราอยู่ที่เมือง ฟรุ๊ตตี้ทาวน์นะ” อ๊บบี้จึงพูดว่า “งั้นเราไปขออาหารกินกันเถอะเราเริ่มหิวแล้ว”
เมืองฟรุ๊ตตี้ทาวน์นี้เป็นเมืองที่ทุกบ้านจะปลูกผลไม้ไว้ไม่ซ้ำกันและเมื่อปีใหม่ทุกคนจะทำผลไม้น้ำปั่นกินกันในครอบครัว แต่คนในหมู่บ้านนี้ไม่มีน้ำใจโดยเฉพาะกับนักเดินทาง แต่ทั้งคู่ไม่รู้จึงเขาไปขออย่างสุภาพว่า “เราขออาหารกินซักหน่อยได้มั้ย” แต่ด้วยความที่คนในหมู่บ้านนี้ไม่มีน้ำใจจึงตอบอย่างไม่พอใจว่า “ไม่ได้หรอกอาหารของเราพอสำหรับคนในครอบครัวเท่านั้น”
เมื่อทั้งคู่รู้ว่าคนในหมู่บ้านนี้ไม่มีน้ำใจจึงจะคิดหาวิธีแก้นิสัยไม่มีน้ำใจของคนในหมู่บ้านนี้
วันต่อมาอ๊บบี้แอบเข้าไปขโมยข้าวโพดจากบ้านคุณหญิงผู้จัดการหมู่บ้าน ทั้งคู่นำมาทำซุปข้าวโพดขายหน้าเมืองสำหรับนักเดินทางเท่านั้น ชาวบ้านได้กลิ่นหอมของซุปจึงตามกลิ่นมาแล้วมาพบอ๊บอ๊บและอ๊บบี้ขายอยู่ “พวกเราขอกินได้มั้ย” “ไม่ได้หรอกเราทำสำหรับนักเดินทางเท่านั้น” ด้วยความที่อยากกินจึงพูดอย่างไม่รู้นิสัยตนเองว่า “ ไม่มีน้ำใจ” “แล้วพวกเจ้าละ” อ๊บอ๊บพูดขึ้น “ยังไม่มีนํ้าใจแบ่งอาหารให้พวกเรากินเลย”อ๊บอ๊บพูดต่อ “เข้าใจแล้ว ต่อจากนี้เราจะมีนํ้าใจต่อผู้อื่นและนักเดินทาง” ทั้งคู่ดีใจที่ทำสำเร็จ แล้วจึงฝากร้านให้ลูกน้องคุณหญิงดูแล

ตอนที่สาม:
อ๊บอ๊บกับอ๊บบี้มาถึงเมือง “ซันไอซ์” ในอดีตเมืองนี้มีหน้าฝนตลอดทั้งปี แม่มดที่มีความสามารถพิเศษจึงมาเข้าเฝ้าพระราชาและพระราชินีแล้วพูว่า “พระองค์อยากให้เมืองเรามีฤดูอะไร” “ข้าอยากให้มี.......” พระราชาพูดแต่พระราชินีแทรกขึ้นว่า “หน้าหนาว”แต่พระราชาไม่ชอบจึงเถียงว่า “หน้าร้อน” ทั้งสองพระองค์ทะเลาะกันไปมาจนแม่มดทนไม่ไหวเลยพูดว่า “ข้าจะแบ่งเมืองนี้เป็นสองฝั่งแล้วฝั่งหนึ่งเป็นหน้าหนาวให้ราชินีปรกครองส่วนอีกฝั่งเป็นหน้าร้อนให้พระราชาปรกครอง” แต่พระองค์ไม่ทันตกลงแม่มดก็สาปให้เมืองเป็นอย่างที่ตนต้องการ....
เมื่ออ๊บอ๊บและอ๊บบี้รู้เรื่องราวทั้งหมด ก็คิดจะช่วยเหลือจึงแยกกันไปถามชาวบ้านว่า “พระองค์ไหนถูก” อ๊บอ๊บซึ่งถามฝั่งร้อนได้คำตอบมาว่าพระราชาถูก อ๊บบี้ซึ่งไปถามฝั่งหนาวได้คำตอบมาว่าพระราชินีถูก ทั้งสองพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สำเร็จ “อ๋อ.....เหลืออีกวิธีหนึ่ง” อ๊บบี้นึกขึ้นได้ “ทำอะไร” อ๊บอ๊บถาม “ก็บุกไปหาแม่มดไง” อ๊บบี้ตอบ“จะบ้าเหรอแม่มดมีเวทมนต์นะ”
อ๊บอ๊บตะโกนเสียงดังจนมีครอบครัวหนึ่งครอบครัวเดินเข้ามา แล้วพ่อก็พูดว่า “เราไม่อยากจะอยู่เมืองนี้เลยเพราะราชาก็ปรกครองเมืองด้วยความดูถูกประชาชน ราชินีก็เอารายได้ของประชาชนไปซื้อเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ” แม่ก็พูดต่อว่า “ลูกคนโตของเราก็ไปเป็นทาสรับใช้แม่มด” อ๊บบี้ก็ถามด้วยความสงสารว่า “แล้วพวกท่านจะอยู่ที่ไหน” ลูกคนเล็กตอบว่า “บ้านเราอยู่ตรงกลางเมืองเหมือนเป็นตัวขั้นระหว่างสองฝั่งนะจะ” แล้วพ่อก็พูดต่อมาว่า “มีทางเดียวคือไปหาแม่มดแล้วแก้คำสาปให้ได้” แม่บอกอีกว่า “เราพายายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ” “เราจะช่วยพวกท่านเอง....เราจะไป”อ๊บอ๊บพูดอย่างมั่นใจ “โอ้โห...แมนสุดสุด”อ๊บบี้กล่าว “รีบไปเถอะใกล้มืดแล้ว”คุณแม่พูด “ ครับไม่ต้องห่วงลูกของคุณต้องปลอดภัย”อ๊บอ๊บพูดแล้วรีบพาอ๊บบี้ไปตามหาแม่มด ครอบครัวนั้นได้วาดแผนที่ไว้ให้อ๊บบี้เป็นคนดูแล้วอ๊บอ๊บเดินนำทางไป “ทำไมบ้านใหญ่จัง” อ๊บอ๊บเอ่ยถามอ๊บบี้ “ก็อยู่กันแค่สองคนแล้วถามฉันฉันจะไปถามใคร” “แหม อ๊บบี้ก็กวนไปได้” แล้วทั้งสองก็รวบรวมความกล้าแล้วก้าวเข้าไปในบ้านของแม่มด

“เอาอย่างนี้เดียวเธอไปทำเป็นคุยกับนาง.....อืมหลอกล่อนางนะ” อ๊บอ๊บจ่ายงานให้อ๊บบี้ “แค่สั่งยังสั่งไม่ถูกเลย” อ๊บบี้บน “เอาเถอะเดี๋ยวพระอาทิตย์ตกดินกันพอดี” อ๊บบี้เดินเข้าไปคุยกับแม่มด “สวัสดีคะ” แม่มดหันมาแล้วพูดว่า “เธอเป็นใครนะ”อ๊บบี้พูดว่า “คือ....ช่างเถอะค่ะคุณชอบฤดูอะไรเหรอคะ” “ฉันชอบฤดูฝนเพราะมีหน้าฝนแล้วทำให้สมุนไพรของฉันโต แล้วจะได้เอามาปรุงยาวิเศษ” “แล้วคุณเปลี่ยนเมืองนี้ทำไมคะ” “เรื่องนี้นะ เมื่อเวลาฉันโกรธจะควบคุมพลังไม่อยู่” “งั้นแสดงว่าคุณไม่ได้ตั้งใจสิคะ” “ใช่” อ๊บบี้ถามไปเรื่อยๆ “แล้วคุณไม่คิดจะแก้คำสาปเหรอคะ” “ก็เพราะไม่มีสมุนไพรมาปรุงยาไง” อ๊บบี้บอกลาแม่มดแล้วเดินออกไปหาอ๊บอ๊บ “ฉันได้ยินหมดแล้ว.....เอาอย่างนี้เราก็ไปเอาสมุนไพรจากหน้าหนาวและหน้าร้อนมาปรุงร่วมกันสิ” “เออความคิดดี”อ๊บบี้พูด
เมื่อทั้งคู่ลองดูก็สำเร็จ แต่คราวนี้เป็น 3 ฤดูเวียนกัน 5 เดือนแรกเป็นหน้าร้อน 5 เดือนต่อมาเป็นหน้าฝน ส่วนอีก 4 เดือนสุดท้ายเป็นหน้าหนาว พระราชาและราชินีก็กลับมาคืนดีกันแล้วร่วมกับปรกครองเมืองอย่างสงบสุข อ๊บอ๊บและอ๊บบี้ได้ไปเข้าเฝ้าพระราชาและพระราชินีได้รับคำขอบคุณมากมาย จากนั้นทั้งคู่ออกเดินทางต่อไปยังเมืองต่อไป

ตอนที่สี:
ทั้งคู่เดินทางมาถึงเมือง “อันเดอร์” เมืองนี้อยู่ใต้นํ้า ผู้ต้อนรับหน้าเมืองให้กินสาหร่ายวิเศษแล้วจะหายใจในน้ำได้ “นี่เราจะต้องเข้าไปช่วยเหลือคนในดินแดนนี่ใช่ไหม” อ๊บอ๊บถามอ๊บบี้ “อืม.....ไม่แน่อาจจะหรืออาจจะไม่” “งั้น เราเข้าไปกันเถอะ” อ๊บบี้พูด “ขอต้อนรับสู่เมืองของเราแขกทุกท่านและขอต้อนรับเข้าสู่งานอันเดอร์เดอะไนซ์ซิตี้คร้าาาบ” อ๊บอ๊บและอ๊บบี้ได้ยินเสียงต้อนรับจากหัวหน้าหมู่บ้านแล้วก็ดีใจ
หลังจากที่ต้องใช้สมองและพลังงานในการช่วยผู้คนในหมู่บ้านต่างๆมา เพราะพวกเขาจะได้สนุกกับงานปาร์ตี้ในคืนนี้ “เราไปพักผ่อนกันให้เต็มที่เลยดีกว่า” อ๊บบี้พูดขึ้น ว่าแล้วทุกคนก็มีความสุขอยู่ในงานปาร์ตี้ตลอดทั้งวัน.....แต่ทั้งคู่มันทันได้ระวังฟองน้ำได้มีแสงขึ้นมา อ๊บบี้รู้ตัวเลยฉุดมือของอ๊บอ๊บออกไปนอกเมือง “เธอพาฉันออกมาทำไม”อ๊บอ๊บเอ่ยถาม “ก็พรุ่งนี้มันวันสุดท้ายแล้วนะ ที่เราจะได้ผจญภัยเพราะฟองน้ำจะหมดพลังแล้วในอีกสองวันข้างหน้า เราจะต้องออกเดินทางกลับแล้วนะ”อ๊บบี้ตอบ “อะไรกัน ทำไมเวลาผ่านไปเร็วจัง” “ยังไงก็ต้องไปแล้ว” ทั้งคู่จึงไปบอกกับหัวหน้าหมู่บ้านแล้วออกเดินทาง ทั้งคู่เดินทางไปได้ซักพักก็ประสบกับปัญหาใหญ่คือ อาหารหมดกระเป๋า อ๊บอ๊บร้องไห้เสียงดังสนั่น อ๊บบี้นั่งคิดอย่างเงียบสงบ “อ๋อ...คิดออกแล้ว”อ๊บบี้คิดได้ “เราก็ไปกินซุปข้าวโพดที่เมืองฟรุ๊ตตี้ทาวน์กันเถอะ” อ๊บบี้พูดต่อ
จากนั้นทั้งคู่ก็เดินทางไปกินซุปข้าวโพดแล้วเดินทางต่อ “ได้เวลากลับกลายไปเป็นกบอีกครั้งแล้ว”อ๊บอ๊บพูด แล้วพวกเขาก็กลับร่างเป็นกบแล้วกระโดดลงบึงไป พวกเขาได้กลับเจอเพื่อนๆแล้วเล่าเรื่องราวให้ฟังกันอย่างสนุกสนานและมีความสุข

1/15/2551

การสร้างวินัยเชิงบวก

สรุปการร่วมอบรม โรงเรียนคุ้มครองเด็ก
จัดโดย มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับ UNICEF Save the Children Sweden และ สสส.
ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๑ มกราคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมริเวอร์ ไซด์

หัวข้อการอบรม “การสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของเด็ก”

ผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวน ๑๒๐ คน ( มาจากตัวแทนโรงเรียนคุ้มครองเด็ก เครือข่ายผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์จากพื้นที่เขตการศึกษาทั่วประเทศ และ องค์กรเจ้าภาพ)

ตัวแทนจากโรงเรียนรุ่งอรุณ
๑.จิรายุ ประภาวิวัฒน์ (คุณแม่จุ้บ) ตัวแทนผู้ปกครอง
๒.นันทินี จันทพลาบูรณ์ (ครูอ้อ) ตัวแทนโรงเรียน
วิทยากร
Dr.Steve Van Bockern ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการศึกษาพิเศษ
Ms.Sarah นักจิตวิทยาการศึกษา
ผู้แปล
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ม.เชียงใหม่

วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๑

คุณสตีฟ วิทยากรหลัก ได้แนะนำตัว ท่านมีประสบการณ์เป็นครูตั้งแต่ระดับ ประถม มัธยม ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และได้ทำงานกับเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม รวมทั้งการอบรมครูที่ต้องทำงานกับเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม ภายใต้แนวคิด “วงจรความกล้าแสดงความต้องการจำเป็นของตน”
(The Circle of Courage Philosophy – ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.reclaming.com/ : Reclaiming Youth International)

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาการอบรม กิจกรรมแรกที่วิทยากรให้ผู้ร่วมอบรมทำคือ เช็คอารมณ์ของตัวเอง ระดับ ๑ – ๑๐ ว่ารู้สึกเช่นไร จากนั้นให้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้จัก กิจกรรมนี้ ทำให้ผู้ร่วมอบรมได้ผ่อนคลาย ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ระบุอารมณ์ของตนเองแล้ว เมื่อวิทยากรขอให้หันกลับมา แต่คุณครูเกือบทั้งหมด ยังคงคุยกันต่อไป วิทยากรให้ข้อคิดว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และใช้การสนทนาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งตัวครูเองแม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีลักษณะเช่นนี้ จึงขอให้เข้าใจเด็กในชั้นเรียน ว่าหากครูเรียกให้เด็กเงียบ หันมาสนใจคุณครู ในขณะที่บทสนทนาของเขายังไม่เสร็จสิ้น ก็เป็นลักษณะธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมี
และวิทยากรปิดท้ายกิจกรรมว่าบางคนอาจจะรู้สึกว่าเล่นอะไรไม่รู้เสียเวลาอบรม แต่มนุษย์ทุกคนเรียนรู้ผ่าน “อารมณ์” เสมอ ครู พ่อแม่ จึงต้องให้ควรใส่ใจให้ความสำคัญกับ “ภาวะทางอารมณ์” ของเด็กเสมอ สมองไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย ถูกคุกคาม ซึ่งเด็กรับรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก จากการอ่านสีหน้า โทนเสียง ท่าทีของเรา

วงจรแห่งความกล้า : การแสดงออกซึ่งความต้องการของมนุษย์วิทยากรได้นำเข้าสู่องค์ประกอบพื้นฐานความต้องการ ๔ ประการ ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน และ แต่ละองค์ประกอบล้วนเชื่อมโยง ส่งผลถึงกันเป็นวงจร ทั้งนี้หากมนุษย์ขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไป

วงแห่งความกล้า ประกอบด้วย
๑.ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม (Belonging)
๒.ความเชี่ยวชาญ รู้สึกว่าตนมีความสามารถ ทำสิ่งต่างๆ ได้ (Mastery)
๓.ความเป็นอิสระ รู้สึกว่าตนมีอิสระในการเลือกกระทำ ไม่กระทำ เลือกชีวิตของตนเองได้ (Independence)๔.ความมีน้ำใจ รู้สึกว่าตนนั้นสามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่นได้ (Generosity)

ในการอธิบายวงแห่งความกล้า วิทยากรได้นำเสนอผ่านวิดีโอชีวิตของเด็กเลือดผสมคนหนึ่ง ซึ่งวงแห่งความกล้านี้แตกสลาย นำไปสู่การฆ่าตัวตายในวัย ๑๗ ปี พื้นฐานครอบครัวเด็กมีพ่อแม่ติดเหล้าจึงต้องถูกแยกจากพ่อแม่มาอยู่ตามสถานดูแลเด็ก และ บ้านอุปถัมภ์ ซึ่งถูกย้ายที่อยู่หลายครั้ง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก คือ อาการปัสสาวะราดที่นอน จนต้องถูกจับแยกจากพี่ชาย และ พี่สาว เพื่อนำตัวไปบำบัด (เด็กขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม – ครอบครัว / รู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือก (ความเป็นอิสระ) ในการเลือกที่อยู่อาศัย)
จากการสัมภาษณ์พี่ชาย และ อ่านไดอารี่ที่เด็กบันทึกอย่างต่อเนื่อง พบว่า เด็กเคยถูกทำร้ายจากผู้ใหญ่ที่รับอุปถัมภ์ ทั้งในแง่การตี และทำให้อับอาย โดย เมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอนจะถูกถอดกางเกงลงแล้วตี ต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งมีเด็กผู้หญิงในบ้านยืนดูอยู่ด้วย สภาพห้องพักที่เด็กบรรยาย สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย (บรรยายว่าเหมือนฉากในหนังน่ากลัว)
แม้จะพบบางคนที่พยายามเข้าหา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ แต่เด็กจะขาดความไว้วางใจ ปิดตัวเองจากผู้อื่น มีการหนีออกจากสถานดูแลเด็ก ออกไปเป็นขโมย ทำลายข้าวของ เมื่อ ถูกจับได้ จะส่งตัวต่อๆ ไปครั้งแล้วครั้งเล่า (เด็กพยายามหนีกลับไปยังพื้นที่ทางเหนือ ซึ่งเป็นสถานดูแลเด็ก หลังแรกๆ ตั้งแต่เขายังเด็ก)
สุดท้ายเด็กผูกคอตาย เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐกลับมาสืบสวนที่มาของเหตุดังกล่าว และได้พบบันทึกของเด็ก

แม้กรณีที่วิทยากรนำมาฉายให้ดูนั้นจะค่อนข้างรุนแรงต่อความรู้สึก แต่สามารถอธิบายวงแห่งความกล้าที่แตก ขาดหายไปได้ชัดเจน ภายใต้พฤติกรรมด้านลบที่เด็กแสดงออก ไม่ว่าจะเป็น การปัสสาวะราดที่นอน การขโมยของ การแสดงความก้าวร้าวต่างๆ หากเรามองเพียงพฤติกรรมลบนั้น และประทับตราว่า เด็กคนนี้มีปัญหา แต่ภายใต้พฤติกรรมลบ มีปัจจัยต่างๆ มากมาย ซึ่งหากเราไม่ด่วนตัดสินและค่อยๆ พิจารณา ช่วยเหลือให้เด็กได้เติมเต็ม ซ่อมแซมวงแห่งความกล้า (ปัจจัยพื้นฐานความต้องการ) จะช่วยลดพฤติกรรมเชิงลบนั้นได้

ทั้งนี้ วิทยากรได้ถามว่า มีใครมองเห็นข้อดีในตัวเด็กคนนี้บ้างไหม ที่ประชุมค่อยๆ ช่วยกันระบุ จากเรื่องราวที่ได้ชม เช่น เขามีความละเอียดอ่อนต่อสิ่งต่างๆ มีทักษะการเขียนบรรยายที่สวยงาม ชัดเจน เหมือนอ่านบทกวี มีความรัก และโหยหาครอบครัวตลอดเวลา มีความสามารถทางดนตรี ใช้เวลาในการเป่าเม้าท์ออร์แกนระบายความทุกข์ใจ
สิ่งหล่านี้ทำให้เราต้องฉุกคิดว่า ในเด็กที่มีพฤติกรรมดูเหมือนแย่สุดๆ เป็นเด็กที่เรารู้สึกว่าสร้างปัญหา เรายังคงมองเห็นข้อดีในตัวเขาได้หรือไม่ เป็นสิ่งนี้สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานช่วยเหลือเด็กอย่างมาก

จากวงแห่งความกล้า วิทยากรอธิบายเปรียบเทียบว่า เป้าหมายของครูคืออยากให้เด็กเรียนดี แต่เด็กจะไม่สามารถทำได้ดีถ้าเขาไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน หรือในทางกลับกัน อาจรู้สึกไม่มีอิสระในการเลือกทำสิ่งต่างๆ ฉะนั้น จากวงกลมนี้ หากเด็กอยู่ตรงกลาง เขาพร้อมที่จะเรียนรู้หาก เขารับรู้ว่า ครูรักฉัน ฟังฉัน เพื่อนๆ ยอมรับฉัน ฉันสามารถทำ รับผิดชอบ สิ่งต่างๆ ได้ ฉันสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ชีวิตฉันมีเป้าหมาย

วิทยากรมักจะทอดเวลารอคอยคำถาม จากผู้เข้าร่วมอบรม เขาบอกว่า คนอเมริกันทั่วไปมักรังเกียจความเงียบ เมื่อห้องเรียนอยู่ในความเงียบ เรามักอึดอัด แล้วตัดบทเพื่อพูดต่อไป ทั้งๆ ที่หากเราฝึกที่จะรอคอย คำถามของเด็กๆ เราจะพบว่า เมื่อเด็กๆ แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เขาจะชอบกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ชอบครูมากขึ้นด้วย

เนื่องจากองค์กรของวิทยากรทำงานกับชนเผ่าอินเดียนแดง และมีชาวอินเดียนแดงร่วมเขียนหนังสือด้วย จึงมีการยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อ เชิงจิตวิญญาณของชนพื้นเมืองด้วย เช่น คำว่า “เด็ก” ในภาษาอินเดียนแดง ใช้คำว่า ราคาล แปลว่า สิ่งมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ (คนจะไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์จริงไหม - วิทยากร) ในขณะที่ชาวตะวันตก หรือ แม้แต่ตะวันออก มักใช้คำว่า “เด็ก” ในเชิงของการดูถูก เช่น ” ชอบทำอะไรเป็นเด็กๆ “

คำถามจากวิทยากร เราจะทำอย่างไรกับนักเรียนที่เข้ามาในห้องเรียนของเรา การลงโทษเด็กที่มีพฤติกรรมลบ (มีความเจ็บปวดอยู่แล้ว มีบางอย่างในวงที่แตก ขาดหายไป) จำเป็นหรือไม่ ได้ผลจริงหรือ

วิทยากรลงรายละเอียด ๔ องค์ประกอบของวงแห่งความกล้า

Belonging มีกลุ่มคำที่อาจขยายความหมาย ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คือ ความผูกพัน มิตรภาพ การให้ความร่วมมือ การรับฟัง การร่วมหัวเราะและ ยิ้มไปด้วยกัน สมองของมนุษย์นั้นเมื่อแรกเกิดวงจรยังเชื่อมโยงไม่สมบูรณ์ หากแต่ธรรมชาตินั้นออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์มองหาทางที่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวตลอดเวลา วิทยากร ยกตัวอย่าง เด็กอ่อน ก็จะมีกลิ่นเด็กอ่อนที่ส่งออกมาโดยเฉพาะ คว้านิ้วจับไว้แน่น ร้องให้อุ้ม เบิ่งตามอง จ้องแล้วยิ้มกับใบหน้าคน ทั้งหมดนี้หากขาดการตอบสนองกลับ การสร้างวงจร เครือข่ายของสมองจะไม่สมบูรณ์ ราบรื่น มั่นคง แข็งแรง ทั้งนี้ข้อดีคือ สมองเป็นอวัยวะที่ ยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ดังนั้นการทำงานเพื่อสร้างสัมพันธ์กับเด็กที่มีปัญหา ก้าวร้าวจึงไม่หมดหวัง เป็นเรื่องที่ท้าทายครู ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ใช่งานง่าย หากแต่ต้องใช้เวลา เราในฐานะมืออาชีพ เราควรเข้าใจการทำงานของสมองว่าออกแบบมาโดยธรรมชาติให้ตอบโต้ เลียนแบบ สิ่งที่ได้รับ เช่น เมื่อคนหนึ่งตะคอกใส่เรา เราก็จะมีแนวโน้มที่จะตะคอกกลับ
ดังนั้นหากเรา เสียงดัง มีทีท่าไม่เป็นมิตรต่อเด็ก เด็กก็จะมีปฏิกริยาตอบโต้เช่นเดียวกับที่ได้รับ แต่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ได้รับการอบรมมามากกว่า ได้รับความรู้เรื่องนี้แล้ว (มีสติ สัมปชัญญะ รู้ตัว มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็ก – ผู้เขียนบันทึก เพิ่มเติม) จึงต้องตัดวงจรนี้ มองเห็นความเจ็บปวดที่อยู่ในตัวเด็ก แม้เด็กจะมีท่าทีก้าวร้าว แต่เราไม่ควรตอบโต้ด้วยท่าทีเดียวกันกลับไป ทำให้สถานการณ์ลุกลาม

Mastery กลุ่มคำที่ขยายความเข้าใจ เช่น การประสบความสำเร็จ สามารถทำได้ แก้ปัญหาเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ฟื้นฟูตัวเองได้ มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ วิทยากรกล่าวว่า โรงเรียน ควรเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์” ทำได้ ทำสำเร็จ” ไม่ใช่ล้มเหลว สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คือ บรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่คุกคาม เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ที่จะเสี่ยงในสิ่งที่เหมาะสม (try to take appropriate risk)

Independence กลุ่มคำที่ขยายความเข้าใจ เช่น การจัดการตนเองได้ ควบคุมตนเองได้ มีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำ คือเด็กรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุม มีอำนาจในชีวิตของตน สามารถเลือกสิ่งที่ดีให้ตนเองได้ การที่ผู้ใหญ่ใช้ “อำนาจ” ควบคุมเด็ก คือ ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่า ทุกคนล้วนต้องการอิสระในการดำเนินชีวิต

Generosity กลุ่มคำที่ขยายความเข้าใจ เช่น ความเสียสละ เห็นแก่ผู้อื่น ความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจ ความเมตตา วิทยากรกล่าวว่า สมองมนุษย์ถูกออกแบบให้เห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น ดูจากเด็กทารกในสถานเลี้ยงเด็ก เมื่อมีเด็ก ๑ คนร้อง ที่เหลือจะทยอยร้องไห้ด้วยเช่นกัน

ช่วงบ่าย
วิทยากรเริ่มด้วยให้ผู้ร่วมอบรม ดูวิดีโอ โดยระบุ ให้นับจำนวนครั้งที่คนที่ใส่เสื้อสีขาวโยน รับลูกบอล ในวิดีโอมีคนใส่เสื้อ สีดำ และ สีขาว ผลปรากฏว่า แต่ละคนนับได้จำนวนต่างกัน (วิทยากรถาม เราดูสิ่งเดียวกัน ทำไมจึงรับรู้ต่างกัน) วิทยากรถามว่ามีใครเห็นกอลิล่าบ้าง (มีคนใส่ชุดกอลิล่าสีดำ เดินเข้าฉากมาทำท่าตลกๆ แล้วเดินออกไป) มีคนเห็นน้อยมาก บางคนนึกว่าวิทยากรล้อเล่น วิทยากรอธิบาย สมองเราถูกออกแบบมาให้มีความสามารถจดจ่อที่จำกัด หากมีสิ่งเร้ามากเกินไป เราจะรู้สึกพะวักพะวง ไม่มีสมาธิ และ เราจะเห็นเฉพาะสิ่งที่เราอยากเห็น กรณีนี้คือ เห็นเฉพาะเสื้อขาวตามคำสั่ง และถ้าเราคิดแต่ว่าเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี เราก็จะเพ่งเล็งและเห็นแต่พฤติกรรมลบ ที่สำคัญคือท้ายที่สุด เด็กก็จะเป็นอย่างที่เขาได้รับการตอกย้ำบ่อยๆ (คำประทับตรา เช่น ซน ไม่เอาไหน ก้าวร้าว ขี้ขโมย ฯลฯ)

วิทยากรฉายวิดีโอ จากรายการโทรทัศน์ในอเมริกา สัมภาษณ์แม่และลูกชาย (เด็กอายุ ๑๐ ปี) มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายแม่ เข้าร่วมแก๊งค์อันธพาล ในรายการนี้มีการติดกล้องที่ห้องพัก ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมจริงระหว่างแม่และเด็ก แม่กำลังจะออกไปกินข้าวกับเพื่อนๆ จะทิ้งลูกไว้ในห้องพัก(ในโรงแรมที่รายการทีวี จัดไว้ให้พักก่อนมาบันทึกรายการ) ลูกด่าทอแม่ และบอกว่า แม่ต้องขออนุญาตตนก่อนจึงจะไปได้ และในช่วงท้ายของรายการได้จัดให้ครูจากร.ร.ฝึกทหารที่ใช้ การขู่ ตะคอกเสียงดัง เด็กคนนี้ (ที่ก้าวร้าวเกเร อยู่ในแก๊งค์อันธพาล) กระโดดกอดพิธีกรแล้วร้องไห้ คนดูในรายการ ส่งเสียงโห่สะใจ
วิทยากรชี้ให้เห็นว่า ในตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ คือ แม่ ก็ไม่มีวิธีสื่อสารที่ดีที่จะเป็นตัวอย่างให้ลูก ใช้ การตะโกน ด่าทอ ใช้คำสั่ง ดังนั้น ลูกจึงไม่รู้วิธีสื่อสาร อธิบายความรู้สึกตนเอง (ความรู้สึกกลัวที่ต้องถูกทิ้งในที่พักคนเดียว) การด่าทอ ข่มขู่ ของเด็กเกิดขึ้นเพื่อหาทางยึดอำนาจกลับคืน การใช้กำลัง อำนาจ เป็นการจัดการพฤติกรรมลบจากภายนอกเท่านั้น
สิ่งที่เราต้องการคือ วิธีการเปลี่ยนแปลงเด็กจากภายใน นั้นหมายถึง เขาสามารถคงพฤติกรรมบวกได้แม้ไม่มีเราคอยควบคุม กำกับ การสร้างวินัยที่มีรากฐานมากจากตัวเด็กเอง จึงเป็นกระบวนการที่ยกระดับเด็กขึ้น มิใช่การกดเด็กลง

ในช่วงต่อมาวิทยากรได้ให้เครื่องมือแก่ครูเพื่อใช้ในการจัดการชั้นเรียน ชี้ว่าหากในกล่องเครื่องมือของครูมีแต่ค้อนอันเดียว เราก็จะใช้ค้อน (วิธีการ) จัดการกับปัญหาต่างๆ แบบเดิมๆ ซึ่งมักไม่ได้ผล
ตัวอย่างของเครื่องมือ เช่น
- การบอกล่วงหน้าว่าในแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ระยะเวลานานแค่ไหน (เช่น การใช้เวลานั่งวงกลม พูดคุยช่วงโฮมรูมตอนเช้า) เด็กรู้สึกปลอดภัย คาดเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
- ตรงข้ามกับข้อแรก คือ ปรับ ยืดหยุ่น จากกิจวัตรปกติ ครูกำลังจะสอน แต่ เด็กหันไปสนใจเสียงการก่อสร้างข้างๆ โรงเรียน ครูอาจจะเบรก ๑๕ นาที พาเด็กออกไปเดินนอกห้อง อาจจะไปดูช่างก่อสร้าง ให้เด็กๆ ตั้งคำถามที่อยากรู้ วิทยากรบอกว่า บางครั้งครูก็ไม่จำเป็นต้องยึดทุกอย่างเพื่อให้สอนเสร็จตามเป้าหมายทุกครั้ง บางครั้งหน้าที่ของเราก็คือ การสร้างความสนุก เพลิดเพลินให้กับเด็กบ้างก็ได้
- การเพิกเฉยอย่างมีเป้าหมาย คือการที่ครูไม่จำเป็นต้องเตือน ดุ เด็กทุกครั้งที่เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ (ที่ไม่สำคัญ ไม่อันตราย) แต่ใช้การเพิกเฉย ไม่สนใจ และอาจใช้การพูดคุย ทำความเข้าใจร่วมกันภายหลัง- การเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เด็กเคาะโต๊ะดินสอ แทนที่ครูจะดุ อาจขอให้เด็กออกมาช่วยงาน เช่น เหลาดินสอ
- การควบคุมโดยใช้ระยะใกล้ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น เหม่อ เคาะโต๊ะ ครูไม่ควรตะโกนจากหน้าห้อง ใช้คำสั่งให้หยุดพฤติกรรม แต่ควรเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้เด็ก อาจใช้การแตะตัว บอกเด็กด้วยความเป็นปกติ เป็นมิตร หรืออาจใช้การส่ายหน้า ไม่ต้องพูด หรือ ดุยืดยาว
- การใช้คำชม ควรมาจากใจจริงไม่ใช่การชมเพื่อหวังให้เด็กทำบางอย่างให้ (วิทยากรใช้คำว่า อย่าชมแบบฝึกสุนัข)
- วิทยากรไม่แนะนำให้ใช้รางวัล เพราะหากทำไม่เหมาะสม กลับจะทำให้แรงจูงใจของเด็กในการที่จะทำสิ่งต่างๆ ลดน้อยลง (เมื่อไม่มีรางวัล)
- การใช้อารมณ์ขันใช้มักได้ผลเสมอ
- การขอเวลานอก Time out วิทยากรบอกว่าคนส่วนใหญ่มักใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ เมื่อเห็นเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ก็จับแยก เหมือนส่งให้ไปอยู่ในคุกชั่วคราว ซึ่งไม่สร้างพฤติกรรมเชิงบวกเพราะเด็กถูกกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม วิทยากรแนะนำว่า ทุกคนในห้องเรียนควรมีสิทธิขอเวลานอก เช่น เมื่อครูรู้สึกอารมณ์ไม่ดี อาจบอกกับเด็กว่า ครูขอเวลาพักเพราะว่าเหนื่อยมาก ไม่ไหวแล้ว ครูเดินออกจากห้องไปเพื่อสูดหายใจลึกๆ หรือ ล้างหน้าล้างตา เมื่อพร้อมแล้วค่อยกลับเข้ามา ก็ได้ หรือ ครูอาจตกลงกับเด็กๆ ว่า เมื่อคนไหนรู้สึกไม่ไหวแล้ว มีสิทธิขอเวลานอก ได้เช่นกัน ในทางกลับกัน ครูก็อาจเสนอการพักยกสำหรับเด็กที่รู้สึกไม่พร้อม เป็นการเสนอโดยครู เด็กเป็นผู้เลือกว่าเขาต้องการเวลานอกหรือไม่ เด็กเป็นคนกำหนดระยะเวลาที่ต้องการ ๓๐วินาที หรือ ๕ นาที
- การสอนเชิงป้องกัน ควรเป็นการตกลงกันตั้งแต่ต้นเทอม ครูให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาพื้นฐานของห้อง ให้เขารู้สึกว่าเป็นห้องเรียนของเขาเช่นกัน หรือ อาจเป็นการพูดคุยแบบเปิดใจ เมื่อห้องเรียนประสบปัญหา เช่น ยุ่งเหยิง วุ่นวาย ครูสอนไม่ได้ ครูควรเปิดเผยความรู้สึกของตนเองอย่างจริงใจ และให้นักเรียนรับรู้และช่วยกันหาทางออกที่ทุกคนตกลงร่วมกัน สิ่งนี้สำคัญเพราะในการที่เราจะแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป เด็กๆ จะรู้หน้าที่ตนเอง ไม่พุ่งความสนใจหากมีเพื่อนในห้องบางคนรู้สึกไม่สบายใจ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
หัวใจสำคัญในการใช้เครื่องมือต่างๆ นี้ ให้ระลึกเสมอว่าไม่ใช่อุปกรณ์สำเร็จรูปที่จะใช้ได้ผลเหมือนกันทุกครั้ง หรือใช้ได้กับทุกคน แต่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ ครูและเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน รวมทั้ง การปฏิบัติที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ก่อนจบการอบรมวันแรกนี้ เราจะเห็นว่าวิทยากรเป็นตัวอย่างของการไม่ใช้การตำหนิ แต่ใช้การตั้งคำถาม ให้แต่ละคนคิด เข้าใจความหมายเรื่องราวต่างๆ ได้เอง เช่น มีคุณครูท่านหนึ่งถามว่า ที่ร.ร.ของตนมีโครงการให้นักเรียนม.๑ จดชื่อ ผู้ที่พูดคำหยาบ และ คำสุภาพ โดย ครูจะให้รางวัล คำชม แก่ผู้ที่พูดสุภาพหน้าเสาธง คุณครูถามว่า สำหรับกลุ่มที่พูดคำหยาบ ควรจัดการอย่างไรดี วิทยากรบอกว่าให้พวกเราลองเอากระดาษขึ้นมา แล้วมองไปที่เพื่อนข้างๆ และจดสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเพื่อนข้างๆ ทุกคนก็อึ้ง วิทยากรจึงถามว่า อยากทำไหม ทุกคนก็ตอบว่า ไม่อยากทำ วิทยากรก็ทิ้งท้ายแค่ว่า เราก็ไม่ควรให้เด็กทำในสิ่งที่เราเองก็ไม่สบายใจที่จะทำเช่นกัน


วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑

กิจกรรมสรุปการเรียนรู้วันแรก วิทยากรให้แต่ละคน วาด วงกลมแบ่งเป็น ๔ ช่อง ตามแบบของวงกลมแห่งความกล้า และระบุทีละหัวข้อ
สิ่งที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งด้วย (ครอบครัว โรงเรียน สมาคม ประเทศ ฯลฯ)
อะไรที่เรามีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต (การเรียน การงาน ครอบครัว ฯลฯ)
เราทำอะไรได้บ้าง (ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจ)
เราได้ทำ แบ่งปัน ช่วยเหลือ อะไร ให้กับชุมชนที่เราอยู่บ้าง
สิ่งเหล่านี้หากเรานำไปทำกับเด็กในห้องเรียนของเราจะรับรู้ได้ว่าเขามีวงกลมแห่งความกล้าที่สมบูรณ์หรือไม่ หน้าที่ของเราคือช่วย ซ่อมแซม เติม ส่วนที่ขาดหายไป
วิทยากรได้พูดถึงพฤติกรรมเชิงลบของเด็กที่เราเห็น เช่น การเข้าแก๊งค์อันธพาล สะท้อน พื้นฐานความต้องการ ๔ ประการของเด็กนี้เช่นกัน เช่น การที่เข้าแก๊งค์ เป็นเพราะ เขารู้สึกได้รับการยอมรับ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เขารู้สึกว่าเลือกชีวิตให้ตนเองได้ มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่น สะเดาะกลอนประตู บางคนรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือเพื่อน ทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสม แต่เด็กรู้สึกว่าได้เติมเต็มวงกลมแห่งความกล้าของตนเอง

วิทยากรให้ผู้อบรมดู ภาพภูเขาน้ำแข็ง ซึ่ง พฤติกรรมลบ คือ ยอดภูเขาที่โผล่อยู่เหนือน้ำ แต่ภายใต้น้ำนั้น มีเหตุปัจจัยมากมาย ทุกๆ พฤติกรรม มีเหตุอยู่เบื้องหลังเสมอ แต่ส่วนใหญ่เรามักลงโทษเพื่อต้องการหยุดพฤติกรรมลบนั้นทันที
ทุกครั้งที่เราพบพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ จงตั้งคำถามเสมอว่า มีความจำเป็นใด (human needs) ที่เขายังขาดอยู่
ผู้สรุปบันทึกได้ถามวิทยากรว่า เหตุใดจึงใช้คำว่า วงจรแห่งความกล้า (Courage) วิทยากรอธิบายว่า ทุกๆ คนมีศักยภาพที่จะใช้ชีวิตอย่างดี เมื่อเขามีความต้องการพื้นฐานครบ (Needs) เขาจะมีความกล้าเผชิญสิ่งต่างๆ ในชีวิต และยังย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กอย่างเรา (ครู พ่อ แม่) มีหน้าที่สำคัญคือ ต้องทำให้วงความกล้าของเราเองสมบูรณ์ก่อน เราจึงจะพร้อมช่วยเหลือเด็กๆ นั่นคือ เด็กอาศัยเรา ในการเรียนรู้ความมั่นคงทางจิตใจ การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม

วิทยากรได้นำเข้าสู่เรื่องความเข้าใจสมอง ว่า มนุษย์นั้น มี สมอง ๓ ประเภท ๑.สมองส่วนเหตุผล ๒.สมองส่วนอารมณ์ และ ๓.สมองส่วนเอาชีวิตรอด โดยเน้นที่ตัว อมิกดารา ซึ่งเป็นตัวควบคุมระบบความปลอดภัยในชีวิตจะโต้ตอบกลับอันตรายต่างๆ โดยอัตโนมัติ และ ฮิปโปแคมปัส ที่บันทึกประสบการณ์ ทั้ง ดีและร้าย ของชีวิตที่จะถูกนำกลับมามีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างอัตโนมัติ เมื่อได้รับการกระตุ้น (ภาพ รส เสียง กลิ่น สัมผัส) ซึ่งประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีมี ๒ แบบ คือ แบบรุนแรงมาก เช่น สึนามิ หรือ เล็กๆ น้อยๆ แต่ถูกสะสมเป็นระยะเวลานาน เช่น ความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย ความรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย

ห้องเรียนจึงควรเป็นสถานที่ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย

วิทยากรนำเข้าสู่ “วงจรแห่งความขัดแย้ง” Emotional Reaction / Conflict Cycle หรือ Tit of Tat
เดิมที่เคยเกริ่นแล้วว่า สมองเรามักตอบโต้ตามสิ่งที่เราได้รับ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่งผลให้ครูดุด่า ท่าทีดังกล่าวจะส่งย้อนกลับถึงกันต่อเนื่องเป็นวงจร ทำให้เรื่องราวลุกลาม เมื่อเรารู้จักวงจรนี้เรา ต้องก้าวถอยออกมา (มีสติ) ท่าทีของครูสำคัญมาก สมองเด็กเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่า ปลอดภัยหรือไม่จาก สายตา ริมฝีปาก ท่าทีที่แสดงว่า ฉันเหนือกว่า
วิทยากรเปิดวิดีโอที่ตามถ่ายความขัดแย้งระหว่าง นักเรียน กับ ครู เรื่อง หมวก คือ เด็กนำหมวกมาร.ร. (ไม่ได้ใส่) และถูกครูยึดไป เด็กมีท่าทีก้าวร้าว และเป็นเด็กที่มีประวัติย้ายมาหลายร.ร. ครูมีแสดงท่าทีว่าตนเหนือกว่า ใช้อำนาจ บังคับ มีครูใหญ่เป็นตัวกลาง
วิทยากรต้องการให้เราเห็นท่าทีที่แตกต่างกันระหว่าง ครู และ ครูใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่างกัน และ พูดถึง กฎระเบียบว่า มนุษย์ทุกคนต่างต้องการมีอำนาจ ดังนั้น เบื้องหลังของกฎ กติกาต่างๆ ควรมีคำอธิบาย หากใช้กฎเพื่อแสดงอำนาจ จะไม่ได้รับความร่วมมือ และหากเราถามเด็กๆ ว่าทำไมเขาถึงทำผิดกฎระเบียบ คำตอบที่ได้อาจเปลี่ยนมุมมองของเรา

วิทยากรใช้การเล่นบทบาทสมมติเพื่อนำเข้า ๔ ขั้นตอนในการแก้ปัญหาพฤติกรรมเชิงลบ

เด็ก ๙ ขวบ ไม่ยอมเปิดหนังสือตามที่ครูให้ทำทั้งชั้น ใช้คำพูดระบายอารมณ์ “ไอ้หนังสือโง่ ห้องเรียนเฮงซวย”ทางเลือกของครู หากใช้อำนาจสั่งการ จบลงที่ต้องทำโทษเด็ก เด็กไม่ได้เรียนในวิชานั้น
ทางเลือกที่ ๒ คือ
๑.ท่าทีของครูที่อ่อนโยน ไม่ทำให้เด็กตกเป็นเป้าสายตาในห้อง (การสอนล่วงหน้า ว่าหากมีเพื่อนไม่สบายใจ คนอื่นๆจะทำงานของตนเองไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูที่จะดูแลเพื่อน) ทำให้เด็กสงบลงก่อน สร้างความไว้วางใจให้เด็ก (เมตตา ให้เกียรติ) สะท้อนอารมณ์ของเด็กให้เขารับรู้ ให้เวลาเด็กในการปรับอารมณ์ ไม่ลงโทษ ด่วนตัดสิน แต่ให้ทางเลือก (เธอจะคุยกับครู หรือต้องการไปดื่มน้ำก่อน หรือ จะไปพักคนเดียวเงียบๆ ก่อนไหม) บทสนทนาที่มีคุณภาพมักอยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เด็กรู้สึกปลอดภัย มีทางเลือก
๒.รับฟังเรื่องราวของเด็ก (กรุณาอ่านเพิ่มเติมเรื่องทักษะการฟัง) ควรถามคำถามที่ถูกต้อง (ครูอยากเข้าใจ อยากช่วย) ไม่ดันทุรังถามว่า ทำไม? เป็นอะไร? เพราะเด็กส่วนใหญ่มักระบุไม่ได้เมื่ออยู่ในอารมณ์ไม่ปกติ ไม่เร่งรัดเด็กให้เล่าเรื่องจนเกินไป การพูดคุยควรเป็นส่วนตัว เด็กมีสิทธิที่จะปฏิเสธหากเขาไม่พร้อมที่จะพูด การรับฟังที่ดีจะทำให้เด็กรับรู้ว่ามีคนที่ห่วงใย อยากช่วยเหลือเขาจริงๆ
๓.ช่วยกันหาทางแก้ปัญหา (ครูส่วนใหญ่มักเข้าสู่ขั้นตอนนี้เลย โดยยึดตามกฎ กติกา ที่ตั้งไว้จะได้ต้องคิดมาก เพราะต้องการแก้ปัญหาให้เสร็จรวดเร็ว เพื่อนำกลับเข้าสู่บทเรียน (เป้าหมายของครู) ซึ่งมักไม่ได้ผลเพราะเด็กไม่รู้สึกวางใจ ครูไม่ได้รู้ปัญหาที่แท้จริงของเด็ก)

ในการช่วยกันแก้ปัญหา วิทยากรให้ข้อคิดที่น่าสนใจคือ ครูไม่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เด็ก บางครั้งแค่การรับฟัง ก็ช่วยคลี่คลายปัญหาไปได้มาก และ ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมในมุมมองของครู กับ เด็ก อาจต่างกัน จงฟัง และให้เกียรติวิธีการของเด็ก (เช่น ในเรื่องสมมตินี้ กระเป๋าเด็กซิปแตก เด็กกระโดดข้ามน้ำ หนังสือจึงตกลงน้ำ เด็กไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร กลัวถูกว่า จึงโยนหนังสือเข้าไปในพุ่มไม้ข้างทาง ครูเสนอทางแก้ปัญหา บอกว่าให้ยืมหนังสือครูเรียนไปก่อน แล้วค่อยไปหาหนังสือตอนพัก หรือ ขากลับ แต่เด็กกังวล อยากออกไปหาเลย) ในมุมมองของผู้ใหญ่ปัญหานี้ดูเล็กนิดเดียว แต่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมากสำหรับเด็ก
ในการแสดงบทบาทสมมตินี้ สตีฟ และ ซาร่า ใช้การด้นสด แม้ซาร่าจะเป็นนักจิตวิทยาการศึกษา ก็จนด้วยคำพูดในบางจังหวะ สตีฟอธิบายว่า ครูจะทอดระยะเวลาบ้างก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จทันที ฟังให้มากมุมมองน่าคิด เด็กไม่ต้องการการซ่อมแซม แต่ต้องการการชี้แนะไปตลอดเส้นทาง ถ้าเขามีครูที่รู้สึกห่วงใย เคารพศักดิ์ศรี ไม่รู้สึกกลัว หรือ ถูกดูถูกเหยียดหยาม เขารู้สึกปลอดภัย (อย่าลืมว่ามนุษย์เรียนรู้ผ่านอารมณ์)
๔.การสื่อให้รู้ผลที่เกิดขึ้น มี ๒ ทาง คือ ๑.การสื่อสารกับ คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง เช่น ผู้ปกครอง ครูวิชาอื่นที่ควรรับรู้ ทั้งนี้การสื่อสารเป็นไปเพื่อช่วยเหลือเด็กร่วมกัน ไม่ใช่การฟ้อง
๒.สรุปการเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งต้องดูตามความเหมาะสม บางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องย้ำ ปล่อยให้จบด้วยดี


วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๑

วิทยากรให้แลกเปลี่ยนคำพูดที่เราได้ยินในวัยเด็กบ่อยๆ ซึ่งส่งผลในชีวิตเราปัจจุบัน เช่นของวิทยากร พ่อแม่จะพูดเสมอว่า ลูกจงทำงานหนัก จงมีเมตตาต่อผู้อื่น (ที่น่าสังเกตคือ ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นคนไทย ตอบคล้ายๆ กัน คือ พ่อแม่มักพูดว่า ตั้งใจเรียนนะ โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ประสบการณ์ร่วมที่บางคนแบ่งปัน คือ ผู้ใหญ่ถูกเสมอ ไม่ว่าอย่างไร เด็กห้ามเถียงผู้ใหญ่)
วิทยากรบอกว่าหน้าที่ของเราคือให้คำดีๆ กับเด็ก เสมือนก้อนกรวดที่โยนลงน้ำไป เราไม่รู้ว่าเมื่อไรจะส่งผล แต่เรารู้ว่าน้ำนั้นจะกระเพรื่อมออกไปเป็นวง คำพูดดีๆ แม้จะดูเล็กน้อย แต่อาจมีผลที่ยิ่งใหญ่ต่อเด็ก

อิฐ ๔ ก้อน ในการสร้าง โรงเรียนคุ้มครองเด็ก (Healthy School)

๑. A Shared Vision โรงเรียนมีวิสัยทัศน์ เป้าหมายร่วม
ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันโดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่เป็นสถานที่ทุกคนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างได้ วิสัยทัศน์ร่วมที่เราควรมีคือ “งานของเรา คือ การสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก (๔ ตัวตามที่กล่าวมาแล้ว) ในองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ร่วม คนควรตั้งคำถามเสมอว่า “สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้นได้อย่างไร”
๒. Respect not Dominate โรงเรียนควรมีวัฒนธรรมของการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่วัฒนธรรมสั่งการ ครอบงำ
การที่เรามีสติรู้เท่าทันว่าอยากตี จัดการเด็ก จะทำให้เราไม่ลงมือตีจริงๆ แม้ปัจจุบันจะพยายามละเว้น การลงโทษทางร่างกาย แต่ยังคงมีการทำร้ายทางจิตใจ เช่น ข่มขู่ ท่าทีที่ดุดันอยู่ (กรุณาดูเอกสารประกอบ วินัย ไม่ใช่ การลงโทษ (Discipline รากศัพท์มาจากคำว่า สอน สาวก นั่นคือ การสอนก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น หรือ เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ)
วิทยากรเพิ่มเติม การจัดการให้ร.ร.เป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดอันธพาล ด้วยการป้องกัน โดยมีครูอยู่ในที่ที่มักเกิดเหตุทะเลาะ รังแกกันบ่อยๆ (ตามงานวิจัยของไทย (โดยผู้แปล) คือ ในห้องเรียนที่ไม่มีครู โถง บันได สนามเด็กเล่น) โดยไม่ใช่การเดินตรวจการ แต่เดินทักทายเด็ก หรือ ร่วมเล่นอยู่กับเด็ก
อย่าหวังให้เด็กมาฟ้องเมื่อโดนรังแก เด็กมักไม่กล้า กลัวโดนหนักกว่าเดิม หรือ ไม่มีทักษะในการสื่อสาร (ซึ่งเราต้องสอน) หรือ อาจไม่อยากมาสื่อสารเพราะพบว่าผู้ใหญ่มักแสดงท่าทีไม่สนใจ มองว่าเด็กทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดา
๓. Emotionally Intelligence Adults

ผู้ใหญ่ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะ... เข้าใจว่าเด็กที่มีความเจ็บปวดจะ...

การรับรู้ มองสิ่งต่างๆ ว่ามีหลายมุม ยึดมั่นมุมมองเดียวของตน

ความคิด คิดอย่างเป็นเหตุ เป็นผล ตกร่องความคิดเดิม

ความรู้สึก รับรู้อารมณ์และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จมอยู่ในอารมณ์ หรือ ระเบิดออกมา

พฤติกรรม ยอมรับ รับผิดชอบ ในการกระทำของตน เก็บงำ หรือ โยน ความผิดของตนให้ผู้อื่น

๔. Manage and Change Behaviors
ทบทวนเทคนิคต่างๆ(เครื่องมือ) ที่ให้มาแล้วเมื่อวาน
เพิ่มเติม และแนะนำวิธีการเข้าถึงเด็กที่มีความเจ็บปวด (ปัญหาซับซ้อน)
ผู้ช่วยเหลือ ควร...
- มองปัญหาเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้
- สร้างสัมพันธภาพบนพื้นฐานที่มนุษย์ผิดพลาดได้ (เด็กรู้สึกปลอดภัย)
- อย่าให้คนอื่นๆ เข้ามารุมปัญหาของเขา
- หาโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ กับเด็กนอกชั้นเรียน จะเข้าถึงเด็กได้มากกว่า
- ถอดรหัสจากพฤติกรรมลบ เพื่อหาทางสร้าง เติม วงกลมแห่งความกล้าของเขาให้สมบูรณ์
- เป็นผู้มอบอำนาจแก่เด็ก ไม่ใช้ยึดอำนาจ
- เป็นแบบอย่างที่ดี
- ทำงานร่วมกับเด็กเสมือนทีม ไม่ใช่ทำทุกอย่างให้เด็ก
- ละเอียดอ่อน สนใจในรายละเอียดเล็กน้อย
- เปิดพื้นที่ให้เขาได้เติบโตเอง
- นำเขากลับสู่วัฒนธรรมดั้งเดิม รากเหง้าทางจิตวิญญาณ
- อย่าก้าวเข้าสู่วงจรของความขัดแย้ง หรือ ตอบโต้ทางอารมณ์กับเด็ก

ทำไมผู้ใหญ่มักจะใช้อำนาจ ความก้าวร้าวกับเด็ก ?
๔๕%
ตกลงสู่วงจรแห่งความขัดแย้ง
๓๐%
รู้สึกว่าเด็กละเมิดค่านิยมของตน (วิทยากรให้ถามตัวเองว่า เรามีค่านิยมอะไรบ้าง ต้องสะอาด เป็นระเบียบ ทำงานหนัก ชัดเจน สุภาพ ฯลฯ หากเด็กไม่มีสิ่งนี้ เรามีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกับเขา)
๑๕%
อารมณ์ไม่ดี
๑๐%
พฤติกรรมนั้นๆ กระตุ้นความทรงจำเดิม ความรู้สึกที่ไม่ดีในอดีต

ทักษะการฟัง
(วิทยากรให้ดูคลิปภาพยนตร์เรื่อง Patch Adam ฉากที่ ตัวเอกปรึกษากับจิตแพทย์ ซึ่งไม่ได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ)
ทักษะการฟังที่สำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานช่วยเหลือเด็ก
๑.ตั้งใจฟัง ไม่ทำงานอื่นไปด้วย เช่น ตรวจข้อสอบ โทรศัพท์
๒.อยู่ในจังหวะเดียวกันกับเด็ก อย่าเร่งรัดเด็กให้เล่าเร็วๆ เกิดบรรยากาศของความเงียบได้ ให้เวลาเขาในการเรียบเรียง
๓.รับรู้และสะท้อนอารมณ์ของเด็ก ด้วยความเห็นใจ ต้องการช่วยเหลือ
๔.ทบทวนสิ่งที่เขาเล่า เพื่อแสดงว่า เราฟังเขาอยู่ และเปิดโอกาสให้เขา(ที่กำลังสับสน) ได้ทบทวนความคิด เรื่องราวของตนอีกครั้งหนึ่ง
๕.ถามคำถามที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ ถ้าเราตั้งใจฟังเราจะได้ยิน “คำที่สำคัญ” (window word) ที่เราจะถามต่อได้อย่างเหมาะสม
๖.ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้เขาได้เล่าเพิ่ม ไม่ใช้ คำถามปลายปิด ( ใช่ หรือ ไม่)
๗.หลีกเลี่ยงการสั่งสอน ตำหนิ กล่าวโทษ ระหว่างที่ฟัง
๘.อย่าแทรกด้วยการเล่าเรื่องของตัวเอง จนทำให้หลงประเด็น หรือเบี่ยงเบนจากเรื่องของเขากลายมาเป็นเรื่องของเรา
๙.เคารพพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ถ้าเขายังไม่พร้อม อย่ากดดันให้พูด
๑๐.ชื่นชมเด็กที่มีความกล้าหาญเล่าเรื่องที่เขารู้สึกลำบากใจ

ก่อนจบการอบรม วิทยากรและ คณะผู้จัด ได้ขอให้แต่ละโรงเรียนวางแผนปฏิบัติงานเพื่อขยายผลสู่เด็กๆ ซึ่งตัวแทนโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้เสนอ โครงการ Tools Box for Teacherเพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่สนใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครื่องมือ(วิธีการ) ที่จะช่วยในการจัดการชั้นเรียนอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ทั้งรูปแบบ วิธีการ และ การจัดการโครงการ ใคร่ขอคำแนะนำจากผู้บริหารต่อไป

สรุปการอบรมและประสานงานโครงการโดยนันทินี จันทพลาบูรณ์๑๓ มกราคม ๒๕๕๑
หมายเหตุ - ต้องการข้อมูลประกอบการอบรมทั้งหมด
๑.สำเนาบันทึกเป็น MP-3 จำนวน ๑ แผ่น
๒.เอกสารประกอบการอบรม
กรุณาติดต่อ ra.news@gmail.com